(ดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2554) ในสภาวะปัจจุบันน้ำมันปิโตรเลียมได้ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลนับวันจะลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศเพื่อมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆภายในประเทศ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนในเชิงพาณิชย์ เป็นร้อยละ 20.3 ในปี 2565 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภาครัฐได้ดำเนินการสนับสนุนการผลิต และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ อย่างจริงจัง เพื่อใช้ทดแทนในภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานร้อยละ 36 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลกันอย่างแพร่หลาย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรน้ำ และมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมตามธรรมชาติในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นที่มาให้มีปริมาณชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางส่วนอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หนึ่งในรูปแบบของการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือใช้ดังกล่าวได้แก่ การนำมาแปรรูปให้ได้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีความหลากหลายในการประยุกต์ใช้งาน แนวคิดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้วยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น และพลังงานทดแทนที่ได้จากภาคการเกษตรนับเป็นพลังงานที่สะอาดส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีความประสงค์ที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหล่งอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีรุ่นที่ 2 (2nd Generation) ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล (Biomass to Liquid; BTL) ในระดับเชิงพาณิชย์ เนื่องจากใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่พืชอาหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1)เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลหรือผลผลิตทางเกษตร
2)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางในการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาเป็นพลังงานทางเลือกในภาคขนส่ง