You're currently viewing an old version of this dataset. To see the current version, click here.

โครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรตาม BCG Model

ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงประมาณปี 2443 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ หรือ Natural Economy และตั้งแต่ปี 2443 เป็นต้นมาจนถึงปี 2557 เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรจากฟอสซิล และปิโตรเลียม หรือที่เรียกว่า Fossil Economy ซึ่งเป็นยุคที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) แต่หลังจากโลกต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงด้านอาหาร ปัจจัยด้านความเสี่ยงในการทำการเกษตร และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจึงกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาฟอสซิลหรือน้ำมันปิโตรเลียมเป็นหลัก ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยชีวมวล หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

เนื่องจากระบบการผลิตแบบเดิม ส่งผลให้มีการปลดปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการเสียสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก การผลิตสินค้าและบริการในปัจจุบันจึงเกินความสามารถที่โลกจะรองรับการดำรงชีวิตหรือความต้องการของมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน จึงมีแนวคิดในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไป และปลดปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด สหประชาชาติจึงกำหนด แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ มีอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และจากการสำรวจข้อมูลด้านนโยบายของแต่ละประเทศทั่วโลกในปี 2560 มีประเทศที่ดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพทั้งสิ้น 49 ประเทศ กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรป

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะไม่มีนโยบายเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพโดยตรง แต่มีหลายนโยบายที่มีหลักการใกล้เคียงกับเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ได้แก่ กรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย (พ.ศ. 2555-2564) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2568 แผนที่นำทาง (Road Map) การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555 เป็นต้น
นอกจากเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่ต้องการก่อให้เกิด 1) การส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรในด้านใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2) เสริมสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและศักยภาพของภาคเกษตรกรรม และ 3) ก่อตั้งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องและขยายโอกาสในการจ้างงาน ที่มุ่งเน้นการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะชีวมวลที่สามารถผลิตทดแทนได้ไปเป็นชีวผลิตภัณฑ์ (Bio-product) ที่มีมูลค่าตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูง

ตัวอย่างประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบแนวคิดของเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ที่มีการจัดการด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เช่น ปาล์มน้ำมัน และมีจุดแข็งด้านการจัดการองค์กรซึ่งมีองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สำหรับการดูแลนโยบายด้านการพัฒนา Bioeconomy นั้น ประเทศมาเลเซียได้จัดตั้ง Bioeconomy Corporation ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุน อำนวยความสะดวก และให้คำปรึกษาทุกด้านแก่อุตสาหกรรมจากฐานชีวภาพ อาทิ การลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ การสร้างคลัสเตอร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น และประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่รัฐบาลมีการออกยุทธศาสตร์การเติบโตแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำ เกาหลีมุ่งเน้นงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมไปถึงชีวเคมี ชีวอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล โดยการทำเกษตรแบบทันสมัยด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างคลัสเตอร์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม และการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกแต่ยังมีหลักการเศรษฐกิจที่มีจุดเน้นจุดเด่นทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต ที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ต้องการเปลี่ยนจากแนวคิดการผลิตเดิมซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง คือ นำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสินค้าหรือบริการ ใช้ แล้วทิ้งเป็นขยะ เป็นการผลิตระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่เน้นให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่

การศึกษาโครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรสอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model (Bio Circular Green Economy) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP)” จึงมีความจำเป็นและนำมาซึ่งแนวทางและข้อเสนอแนะในการสร้างความสมดุลแก่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมไปถึงเป็นแนวทางในการขยายผลการพัฒนากับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมวางแผนธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

วัตถุประสงค์ เพื่อให้การศึกษาวิจัยบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรสอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model (Bio Circular Green Economy) และเพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลแก่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ 2) เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 3) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขยายผลการพัฒนากับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ

ข้อมูลและทรัพยากร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฟิลด์ ค่า
* ประเภทชุดข้อมูล ข้อมูลระเบียน
ยินยอมให้นำชื่อชุดข้อมูลไปใช้ที่ GD-Catalog ยินยอม
* ชื่อฝ่ายงานสำหรับติดต่อ กองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ
* อีเมลสำหรับติดต่อ bioethanol@dede.go.th
* วัตถุประสงค์
  • ยุทธศาสตร์ชาติ
  • พันธกิจหน่วยงาน
* หน่วยความถี่ของการปรับปรุงข้อมูล ตามเวลาจริง
ค่าความถี่ของการปรับปรุงข้อมูล (ความถี่น้อยที่สุด)
* ขอบเขตเชิงภูมิศาสตร์หรือเชิงพื้นที่ ประเทศ
* แหล่งที่มา สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
* รูปแบบการเก็บข้อมูล PDF
* หมวดหมู่ข้อมูลตามธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ข้อมูลสาธารณะ
* สัญญาอนุญาตให้ใช้ข้อมูล Creative Commons Non-Commercial (Any)
เงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูล
ผู้สนับสนุนหรือผู้ร่วมดำเนินการ สถาบันการศึกษา
หน่วยที่ย่อยที่สุดของการจัดเก็บข้อมูล ไม่มี
URL
ภาษาที่ใช้
  • ไทย
  • อังกฤษ
วันที่เริ่มต้นสร้าง 3 ตุลาคม 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 3 ตุลาคม 2565
ชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูง ไม่ใช่
ข้อมูลอ้างอิง ไม่ใช่
สร้างโดย Gravatar พอพันธ์ สร้อยน้อย
สร้างในระบบเมื่อ 3 ตุลาคม 2565
ปรับปรุงครั้งล่าสุดในระบบเมื่อ 3 ตุลาคม 2565